พิชัย เมืองเล็กแต่ใหญ่ที่ตกสำรวจ
ตอนที่ผมกำลังพิมพ์คำนำครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้สู่สาธารณะครั้งที่ 3 นั้น
ตรงกับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 ครบรอบ 10 ปีที่หนังสือเล่มนี้ได้ถูกรวบรวมพอดี
ซึ่งยังไม่รวมช่วงเวลาที่รวบรวมข้อมูลก่อนจัดพิมพ์ครั้งแรกอีกกว่า 3 ปี และช่วงกว่าจะได้ตีพิมพ์อีก 1 ปี
ช่องว่างของกาลเวลาที่เกิดกับเมืองพิชัย ถูกทิ้งห่างกันแต่ละช่วงเวลานั้น นานพอที่จะทำให้หลายอย่างนั้นรกร้าง
ย่อยสลาย สาบสูญ กระทั่งจมอยู่ใต้ผืนดินของเมืองๆนี้ เริ่มตั้งแต่ปรากฏชื่อเมืองที่มีลักษณะแบบพี่ชัยในประชุมพงศาวดารเหนือ
ซึ่งเป็นเรื่องราวเมื่อพันกว่าปี จากนั้นเมืองพิชัยก็หายไปจากการกล่าวขานไปอีกสี่ร้อยกว่าปีและปรากฎชื่ออีกครั้งในสมัยอู่ทอง
แล้วก็หายไปอีกรอบ เมื่อเวลาผ่านไปอีกร้อยกว่าปีเมืองพิชัยก็ปรากฏชื่อเป็นเมืองสำคัญอีกครั้งในสมัยพระบรมไตรโลกนารถ
และปรากฏเรื่อยมาในในช่วงอยุธยาตอนต้นแล้วก็หายไปจากการบันทึกอีกกว่าสองร้อยปี
เมื่อกลับมาอีกครั้งเมืองพิชัยมาปรากฎชื่อกลายเป็นเมืองที่สำคัญอย่างยิ่งยุคปลายอยุธยา
และเริ่มต้นยุคกรุงธนบรีจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
และหลังจากนั้นเมืองพิชัยก็หายไปจากความทรงจำของผู้คนอีกรอบหลังจากที่ต้องเกิดการโยกย้ายปรับเปลี่ยนเมืองกันอีกรอบ
มาถึงวันนี้ปีพ.ศ.2562 หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและเป็นประโยชน์
ข้อมูลต่าง ๆ ที่สันนิษฐานถูกพิสูจน์และเริ่มชัดเจนมากขึ้น
มีผู้คนให้ความสนใจร่วมกันสืบค้นรวบรวมข้อมูล
หลายคนให้ข้อมูลภายในพื้นที่จนเกิดกิจกรรมต่างๆที่เกิดการสร้างสรรค์เมืองโบราณแห่งนี้
เปรียบเหมือนการปลุกให้เมืองนี้ได้ตื่นจากการหลับใหลอีกครั้ง
หลังจากหลับๆตื่นๆมาหลายรอบตั้งแต่ช่วงที่ได้ถูกกล่าวถึงจากการบันทึก
กระทั่งถึงย่อหน้านี้และหลังจากนี้ อาจมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้น
ซึ่งประเด็นสำคัญภายในหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นเพียงชนวนเล็ก ๆ
ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการเพื่อออกไปสืบค้นข้อมูลที่มีอยู่เพิ่มเติมด้วยตัวเองต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ของประเทศตามแต่ละยุค
หรือการเทียบเคียงเวลากับเรื่องราวที่ถูกเล่าขานต่อ ๆกันมากับเหตุการณ์ในประเทศ
ตลอดจนถึงสถานะการณ์และผลกระทบจากเหตุการณ์สำคัญของสังคมโลก
ขอให้สนุกและมีความสุขกับการเดินทางไปด้วยกันครั้งนี้ครับ
วิทยา ชี