top of page

7 เคล็ดลับที่จะทำให้คุณวาดรูปเก่งขึ้นใน 30 วัน(พื้นฐานการวาดภาพ)


จากคนที่ร่างภาพไม่เป็นจะเข้าใจและกำหนดสัดส่วนได้ง่ายขึ้น จากคนที่วาดเป็นอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้พื้นฐานการวาดภาพเหล่านี้ ก็จะสามารถวาดรูปได้ง่ายและเร็วขึ้น

จากการเริ่มต้นฝึกวาดภาพขาวดำ ก็จะสามารถมองเห็นมิติแสงเงาในสีที่ใช้จากการฝึกวาดภาพนี้ เคล็ดลับ 7 ข้อที่น้อยคนจะบอกคุณครบเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อนวาดภาพ และขณะวาดภาพ แต่หากต้องการจุดเริ่มต้นสำหรับการวาดภาพในรูปต่างๆที่ดีในอนาคต ควรฝึกอย่างเคร่งครัดและต้องใช้วินัยสูงใน 30 วันนี้

Pastel Color

สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานการวาดภาพที่เมื่อเรารู้แล้ว จะสามารถลัดขั้นตอนการลองผิดลองถูกไปได้หลายปี ต่างจากคนที่ไม่เคยฝึกพื้นฐานการวาดภาพเหล่านี้เลย เคล็คลับเหล่านี้จึงไม่ใช่เพียงเทคนิคการวาดภาพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นวิธีที่จะทำให้สามารถวาดภาพได้ดีขึ้นและง่ายขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากความเข้าใจ ฝึกฝน จนกลายเป็นระบบอัตโนมัติ ร่างภาพแบบอัตโนมัติทันที แม่นยำ เทียงตรง เสริมสร้าง ต่อเติมจินตนาการได้อย่างดี

.

การวาดภาพจึงไม่ใช่ทำตามอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังคงเกี่ยวกับการฝึกทักษะทางสมอง ทั้งระบบการสั่งงาน ระบบความคิด การประเมิน เพราะเมื่อเราฝึกตามขั้นตอนนี้ ระบบของสมองจะค่อยๆผสานกับกล้ามเนื้อมือ เราจะรู้จักจังหวะในการกด หนัก เบา เส้นตรง อ่อน เข้ม วงกลม หรือสารพัดแสงเงา ซึ่งเป็นพื้นฐานของหลายๆสิ่งในอนาคต เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของ การฝึกฝนทางศิลปะกับสมองให้จดจำทิศทางของระยะ ขนาด สี แสง น้ำหนักของมือ

.

เมื่อคิดได้ ทำได้ ความมั่นใจก็จะตามมามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีง่ายๆจากการฝึกพื้นฐานการวาดภาพเหล่านี้ด้วยตัวเอง

. การวาดภาพที่อยู่ในหัวให้ปรากฎออกมาสู่สายตาสาธารณะชน ไม่ใช่เรื่องง่าย ...แต่ก็ไม่ยากเกินพยายาม คนที่ฝึกฝนเขาทำกันได้ทั่วโลก ทำไมเราจะทำไม่ได้ ยิ่งในช่วงการฝึกทักษะการวาดภาพช่วงแรกๆ รามักมีเป้าอยากจะวาดให้เหมือนกับปริ๊นภาพออกมาจากเครื่อง ให้เหมือนมากที่สุด ได้อารมณ์มากที่สุด ใกล้เคียงต้นแบบมากที่สุด

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องได้รับการฝึกฝน ลองผิดลองถูกซ้ำๆ ซึ่งผมเรียกว่าความชำนาญ

.

เราจึงจำเป็นต้องมีพื้นฐานหรือทักษะการวาด การช่างสังเกตุ ความอดทน วินัย จนถึงจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ที่จะทำให้ได้ในทีสุด การฝึกทักษะต้องใช้ความอดทน ไม่ว่าจะเป็นทักษะใดๆก็ตาม ตั้งแต่ศิลปะ ดนตรี กีฬา ทำอาหาร ซ่อมรถ หรือ สารพัดทักษะบนโลกใบนี้

เพราะฉะนั้นหากเราจะจับดินสอ แล้วให้วาดเก่งเหมือนดาร์วินชี กลับชาติมาเกิดนั้น...คงยาก แต่ถ้าฝีมือเราค่อยๆพัฒนาขึ้นจากการลงมือทำสม่ำเสมอ นั่นจะเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นเรื่อยๆ

ทักษะง่ายๆแต่มากด้วยคุณประโยชน์จากการฝึกวาดภาพนี้ เกิดขึ้นเพียงดินสอด้ามเดียว ดินสอที่จะทำให้สมองของเรามีความสัมพันธ์กับการมือที่ขีดเขียน เส้นสายจากการร่างจะช่วยต่อเส้นใยสมองของเราให้ขยาย ติดต่อเครือข่ายกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นช่องทางสำคัญของจินตนาการที่ไม่ถูกปิดกั้น เพียงเพราะด้อยทักษะอีกต่อไป

.......

เตรียมพร้อมก่อนเริ่มฝึกวาดภาพ ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ

สำหรับการฝึกฝนฝีมือเพื่อเตรียมตัวสร้างผลงานภาพวาดช๊อคโลกในอนาคต

1. ดินสอ EE+คัดเตอร์

2. กระดาษบรูฟ+กระดานสเก็ต

3. ยางลบ ที่พกมาไว้เพื่ความมั่นใจเหมือนกับการสวมพระไว้กันผี

4. ใจ ที่จริงจัง

เคล็ดลับข้อที่ ... 1. บริหารข้อนิ้ว ข้อมือก่อนเริ่มทำงาน ก่อนเริ่มภาระกิจการวาดภาพเพื่อยกระดับจิตวิญญานของมวลมนุษย์แล้วเหมือนกับการออกกำลังกายทั่วไปเพื่อให้กล้ามเนื้อนั้นผ่อนคลาย

เราควรบริหารมือก่อน เหมือนเป็นการอุ่นเครื่องหรือการหยอดน้ำมันให้ลื่นไหล

ทั้งกายและใจการบริหารก็เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อมือที่เกร็งเป็นวงเวียนโดนสนิมให้คล่องแคล่ว ว่องไว

ด้วยการสลัด พัดโบกมือไปมา สลัดๆ สบัดๆ ขยำกำมือ เพื่อให้กล้ามเนื้อมือทั้งเล็กและใหญ่นั้นคลายตัว ยืดหยุ่น

หมุนที่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อแขน หัวไหล่

บริเวณเอวตรงกล้ามเนื้อใหญ่ส่วนเอวก็บิดไปมา ระยะเวลา : ทุกครั้งก่อนลงมือวาดภาพ และฝึกให้เป็นนิสัยอย่างน้อย 21 วันที่ฝึกฝนเคล็ดลับทั้ง 7 นี้

2. การจับดินสอ

มีการจับอยู่หลากหลายตามความถนัด แต่ที่ผมอยากแนะนำให้ลองฝึกเพื่อความคล่องตัวและสะดวกในการใช้งาน คงมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน 1. จับแบบเขียนหนังสือ - ใช้สำหรับการเก็บรายละเอียดของงานในพื้นที่เล็ก แคบ - วิธีการจับแบบนี้จะใช้ข้อนิ้วในการควบคุมดินสอ เหมือนการเขียนตัวอักษร - เป็นการใช้กล้ามเนื้อเล็กของข้อนิ้วในการควบคุมพื้นที่แคบ หากใช้พื้นที่กว้างขึ้นก็เริ่มใช้ข้อมือเป็นศูนย์กลาง 2. จับจับแบบหลวม ใช้สำหรับร่างภาพ ต้องการสะบัดข้อมือแบบสบายๆ 3. จับแบบใช้ทุกนิ้วสัมผัส เพื่อประคองดินสอให้เป็นแนวเส้นตรงสำหรับการลากเส้นแนวดิ่ง ขวาง หรือเฉียง 4. จับแบบคว่ำมือ ใช้สำหรับการกำหนดเส้นร่างแบบคร่าวๆ และให้เบาบางที่สุด ได้โปรด กรุณาอย่าใช้นิ้วใดนิ้วหนึ่งล๊อคดินสอ พยายามจับให้ดินสอเป็นอิสระมากที่สุด โดยนิ้วแค่เป็นตัวประคองดินสอไว้ให้เหมือนกับว่าดินสอนั้นเป็นส่วนหนึ่งใน มือของเราที่จะบังคับให้ปลายดินสอนั้นไปทางไหนก็ได้ตามใจปรารถณา เหมือนกับเวลาใช้นิ้วก้อยแคะขี้มูก ***ฝึกจับให้ถนัด ถ้าไม่ถนัดนั่นแสดงว่า กล้ามเนื้อมือเรายังไม่ชิน ใน 30 วันนี้ ฝึกลองจับดินสอตามการใช้งานแต่ละพื้นที่ ทิ้งความเคยชินเดิมๆออกไป ระยะเวลา : ฝึกจับจนกว่าจะถนัด ใน 30 วัน ทุกวัน

อีกนิดครับสำหรับการเหลาดินสอ EE อยากให้ใช้คัดเตอร์เหลาให้ไส้ดินสอออกมายาวๆหน่อย เพื่อความสะดวกกับองศาของเนื้อไม้กับไส้ดินสอเวลาวาด (ตามภาพ) และที่สำคัญ อย่าทำหล่นเด็ดขาด เพราะนั้นหมายถึงไส้ดินสอจะหักข้างใน เพราะไส้เปราะมาก ตอนนี้ผมจะแนะนำจุดศูนย์กลางของแต่ละส่วนในการหมุนตวัดปลายดินสอให้ฉวัดเฉวียน แต่ไม่เวียนหัวถ้าทำได้

การใช้กล้ามเนื้อเล็กของข้อนิ้ว ในการควบคุมพื้นที่แคบสำหรับเก็บรายละเอียด การใช้ข้อมือเป็นศูนย์กลาง เพื่อร่างภาพในวงแคบ การใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลาง เพื่อร่างภาพในวงกว้าง การใช้ไหล่เป็นศูนย์กลาง เพื่อร่างภาพในวงกว้างมากขึ้น กระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อใหญ่ ในการวาดภาพใหญ่ๆ อย่างวาดบนกำแพง เฟรมใหญ่ๆเป็นต้น เห็นป่ะครับว่า ถ้าเราเริ่มจุกศูนย์กลางถูก คราวนี้การวาดวงกลมก็ไม่ใช่เรื่องยาก ข้อสำคัญคือ ต้องสังเกตุและสร้างความเคยชินใหม่ครับ 30 วันนี้ เอาให้คล่อง ทำให้ชินนะ

3. ฝึกทุกเวลา

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงลากเส้น

คนจะเก่งทักษะได้ต้องฝึกฝนทุ่มเทกันทั้งนั้น ไม่มีใครเพียงนั่งนึกแล้วจะเก่งได้ เพราะฉะนั้นต้องฝึก 1. ลากเส้นตรงโดยจับดินสอแบบคว่ำใช้ทุกนิ้วสัมผัสให้ใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลางโดยลีอคข้อมือไว้จะได้เส้นที่ตรง

2. ลากเส้น แนวเฉียงโดยจับดินสอแบบคว่ำใช้ทุกนิ้วสัมผัสให้ใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลางโดยลีอคข้อมือไว้จะได้เส้นที่ตรง

3. ลากเส้นแนวนอน โดยจับให้ดินสอแบบคว่ำใช้ทุกนิ้วสัมผัส โดยให้ขนานไปแนวเดียวกับเส้นจะได้เส้นที่ตรง เพราะดินสอได้ถูกประคองไว้ไม่ให้กระดุกกระดิกด้วยนิ้วทั้งห้าของเราแล้ว

4. ตวัดปลายดินสอบนกระดาษด้วยเส้นโค้งสลับกับเส้นที่หมุนวน จนเข้าใจในน้ำหนัก เน้นหนัก เบา ให้ได้อารมณ์ของเส้นเหมือนสายน้ำที่กำลังเลื่อนไหล อย่างไม่หยุดนิ่ง 5. จากนั้นเราก็จะมาเริ่มฝึกการใช้จินตนาการในการสร้างขนาดและสัดส่วนของภาพเพื่อการที่เราจะสามารถวาดภาพจากต้นแบบได้โดยเข้าใจสัดส่วนและการย่อหรือขยายในขนาดของภาพ ระยะเวลา : 14 วัน (อย่างน้อย)**ข้อนี้สังเกตุดินสอกับเส้นดีๆครับ เห็นหรือเปล่าครับว่าความยาวของดินสอนั้นจะนานไปกับเส้นที่ลากไม่ว่าจะตรงหรือฉาก 4. มองเป็นเส้น

เป็นการฝึกการมองภาพข้างหน้าเรา แล้วใส่เส้นเข้าไปในภาพนั้น ว่า... ขนาดรูปร่างสั้นยาวแค่ไหน แบ่งครึ่ง แบ่งเป็นสามหรือสี่ส่วน โดยกำหนดด้วยสายตา ซึ่งในการฝึกฝนแบบนี้ต้องใช้จินตนาการเป็นสำคัญ คือให้มองให้เห็นเส้นในอากาศที่เราสร้างขึ้นมาเอง จากนั้นก็ทดลองลากและกำหนดแบ่งเส้น เป็นระยะๆดูคร่าวๆ กำหนดด้วยตัวเอง ลากและกำหนดแบ่งเส้น เป็นระยะๆดูคร่าวๆ กำหนดด้วยตัวเอง ***เมื่อลากเสร็จแล้วลองเอาไม้บรรทัดวัดแต่ละช่องดูครับว่าระยะเท่ากันหรือเปล่า สายตาของเราส่งภาพสู่สมองให้สามารถกำหนดระยะได้แม่นหรือเปล่า

ระยะเวลา : 21-30 วัน (อย่างน้อย)

5. เล็งเป็นองศา

เพื่อความง่ายในการร่างภาพ ในการกำหนด ระยะ ขนาด รูปร่าง ระนาบ หรือพื้นที่ เช่น ของที่วางซ้อนกัน ถ้ามองเป็นองศาแล้วอยู่ประมาณกี่อาศา จากนั้นก็ลองนำไม้โปร มาวัดว่าที่เราเดาไว้น่ะแม่นหรือไม่แม่น

ระยะเวลา : 21 -30 วัน (อย่างน้อย)

6. การลงน้ำหนัก

ใช้ดินสอ EE ตีกรอบ เพื่อฝึกการไล่น้ำหนัก 3 น้ำหนักก่อน จากนั้นก็แบ่งครึ่งในช่องน้ำหนักเป็น 6 จากนั้น ก็ซอยช่องแบ่งเป็น 12 ช่อง จนสามารถกระจายน้ำหนักได้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ การลงน้ำหนักนี้ก็เพื่อที่ว่าเราจะสามารถทำให้เกิด ความลึก ระยะ หรือมิติ เพราะตัวน้ำหนักนี้เอง สามารถทำให้เกิดภาพ 2 มิติ หรือ 3 มิติได้ ถ้าเราไม่รู้จักน้ำหนัก หรือไม่สามารถควบคุมน้ำหนักมือของเราได้ ก็จะสามารถมิติพิศวงให้กับผู้ชมงานรวมทั่งตัวเราเองได้เหมือนกัน ระยะเวลา : 7 วัน

7. รู้จักน้ำหนักจากวงกลม

วงกลมเพียง 1 วง จะทำให้เราสามารถเข้าใจน้ำหนักแสงเงาของวัตถุ สิ่งของที่เราต้องการวาด เพื่อให้ภาพของเราเหล่านั้นเกิดมิติมากขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องค่อยๆเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ อย่าพยายามทำครั้งเดียวให้เข้ม พยายามกระจายน้ำหนัก แล้วค่อยๆเพิ่มให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเสร็จ จากนั้นถึงทำการเน้นจุดที่เข้มที่สุดในภายหลัง เหมือนกับการไล่ระดับน้ำหนักในข้อ 6 **สังเกตุนะครับว่า น้ำหนัก 6 น้ำหนักนี้ เคล็ดลับอยู่ที่น้ำหนักที่ 5 คือ เงาสะท้อน ( Reflected) บางคนขาดส่วนนี้ไป ทำให้ภาพนั้นจม ไม่หลุดลอยออกมาจากพื้นผิว ระยะเวลา : 7 วัน ......

หมดแล้วครับ ที่เหลือก็ฝึกๆๆๆๆ ฝึกจนชำนาญ การฝึกแบบนี้เหมือนการซ้อมมวยโดยการ เตะกระสอบทราย ซ้อมวิ่ง ซิดอัพ สารพัด ก่อนที่นักมวยจะขึ้นสู่เวทีจริง ของเราก็ซ้อมมือกับสมองให้คล่องเพื่อให้กำหนดทิศทาง ขนาด แสงเงา ให้แม่นยำมากยิ่งๆขึ้น ก่อนที่เราจะออกไปตะลุย Drawing ทุกอย่างที่ขวางหน้าต่อไป.....

จะเห็นว่า หลายๆอย่างควรทำควบคู่กันไปตลอด

จนกระทั่ง ช่วง 7 วัน สุดท้ายก่อนครบกำหนด 30 วัน ให้ฝึกวาดและสังเกตุแสงเงาจากวงกลม ขอให้สนุกและมีความสุขกับเคล็ดลับทั้ง 7 ข้อนี้นะครับ หลังจากท่านฝึกเสร็จสิ้นโดยมีวินัยอย่างเคร่งครัดแล้ว รับรองครับว่า ท่านจะร่างภาพได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม กำหนดสัดส่วนจากแบบได้แม่นขึ้น เข้าใจในแสงเงามากขึ้น จากคนที่ร่างภาพไม่เป็นจะเข้าใจและกำหนดสัดส่วนได้ง่ายขึ้น จากคนที่วาดเป็นอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้พื้นฐานเหล่านี้ ก็จะสามารถร่างได้ง่ายและเร็วขึ้น จากการเริ่มต้นฝึกภาพขาวดำ ก็จะสามารถมองเห็นมิติแสงเงาในสีที่ใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องครับ ......... บทความนี้ผมเขียนตั้งแต่ปี 2009 มีคนอ่านกว่า 90,000 วิว และถูกก๊อปไปวางเพจตัวเองสร้างยอดวิวอีกหลายหมื่นวิว ไม่เชื่อลองพิมพ์ว่า "พื้นฐานการวาดภาพ" ในกูลเกิ้ลดูนะครับ จนถึงตอนนี้ 2017 ผมนำปรับปรุงและเพิ่มภาพตัวอย่างสำหรับการลงน้ำหนัก แสงเงามาให้ชมครับ สำหรับภาพวาดอื่นๆ ลองเข้าไปดูสังเกตุ เป็นตัวอย่างประกอบกันได้ในเว๊ปนี้เลยนะครับ

-----

F e  a  t  u  r  e  d        P  o s  t s
R  e  c  e  n  t            P  o  s  t  s
S  e  a  r  c  h     B y     T  a  g  s
bottom of page