3 ขั้นตอน ไม่ต้องมีพื้นฐาน ก็วาดเป็น
(เทคนิคง่ายๆที่จะทำให้ท่านวาดได้คล้ายมืออาชีพ)
หลายคนอยากวาดรูปแต่กลัวไม่เหมือน มีไม่น้อยที่กลัวไม่สวย อาย กลัวขายหน้า
หรือว่าคิดว่าตัวเองไม่มีพื้นฐานไร้ประสบการณ์ ทำให้ไม่กล้าที่จะวาดให้เขาดูเพราะกลัวโดนล้อว่า
...ฝีมืออย่างนี้จะมาวาดเพื่อประจานตัวเองทำไม
ทั้งๆที่ใจเราอยากจะวาดใจจะขาด และเพราะความกลัวเหล่านี้ทำให้ดึงเราออกห่างจากการวาดมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ไม่ต้องตกใจ เราทุกคนเราเป็นมนุษย์ และมนุษย์ทุกคนมีความเป็นศิลปินในตัวเองอยู่แล้ว เราสามารถวาดเพื่อที่จะสื่อสารความรูสึกของเราออกไปได้ เพราะการสร้างงานศิลป์หรือการวาดภาพในงานศิลปะไม่จำเป็นต้องมองว่า ภาพนี้เหมือนภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว หรือ จำเป็นที่จะต้องเหมือนภาพจริงจากต้นแบบ
ซึ่งการวาดภาพจัดว่าเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งและการสื่อสารแบบนี้ก็ถือเป็นการสื่อสารอีกแบบหนึ่ง เพราะสำหรับงานศิลปะแล้ว....
แว๊บแรกที่เราเห็นผลงาน เรารู้สึกอย่างไรกับผลงานชิ้นนั้น
บางภาพสีสันอาจทำให้เรารู้สึกร่าเริงแจ่มใส และบางภาพก็สามารถทำให้เรารู้สึกหดหู่ได้เหมือนกัน ทั้งๆที่ผู้วาดเองอาจไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นในตอนวาด แต่สีสันและลายเส้นที่ใช้นั้นอาจบ่งบอกถึงจิตใจเบื้องลึกของเขาทำให้เขากำหนดสีและเส้นเหล่านั้นออกมา ซึ่งนั่นทำให้เขาได้ปลดปล่อยปลดเปลื้องเอาสิ่งที่ค้างคาใจมาระบายออกทางภาพวาด
ทีนี้เราจะมาลองดู 3 ขั้นตอนวาดภาพตามสไตล์เรากันว่าจะเริ่มต้นอย่างไร?
1. ปริ้นท์ภาพที่เราต้องการออกมาจากคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็อปปี้ลายเส้นลงบนเฟรมหรือกระดาษที่เราต้องการวาด
ถ้าไม่มีกระดาษลอกลาย เราสามารถใช้ดินสออีอี(EE) ถูกระดาษด้านหลังภาพให้เข้ม แล้วจากนั้นเราก็ลอกลายเส้น และเราก็จะได้ภาพที่ไม่เพี้ยน เพื่อความแม่น ซึ่งจะช่วยทำให้เราเกิดความมั่นใจขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งการก็อปปี้จากต้นแบบนั้น ทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดเพราะ ถึงแม้ฝีมือจะดีขนาดไหน บางทีวาดครั้งที่สองก็อาจจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้เราจะเห็นการลอกลายแบบลายไทยคือทำต้นแบบมาแผ่นเดียวและหลังจากนั้นกลอกแบบลายเดิมไปเรื่อยๆจนเต็มพื้นที่
2. ใช้จินตนาการ
พอเราได้โครงร่างแล้ว เราอยากได้ภาพนั้นเป็นลักษณะไหน จะเป็นรูปทรงเรขาคณิต หรือ วาดตามโครงร่างนั้น จากนั้นก็จินตนาการการใช้สีให้เป็นสไตล์ของเราเอง มองเป็นสีพื้นๆให้เป็นสองมิติ สีง่ายๆ
3. ลงสีหรือลงน้ำหนัก
หากเราอยากว่าเป็นภาพขาวดำ การน้ำหนักง่ายๆมีเพียง 3 น้ำหนัก คือ ขาว เทา และดำ จากนั้นก็ลองปะติดปะต่อกันสลับน้ำหนักไปเรื่อยๆจนเต็มภาพ หากเป็นภาพสีลองทดลองเป็นชุดผลงานไป อาจใช้สีทุกสีผสมขาว แล้วป้ายลงบนภาพ หรือ ทั้งภาพเต็มไปด้วยสีตรงข้าม เช่น แดงกับเขียว หรือ ส้มกับม่วง เป็นต้น
บางทีเราอาจไม่เคยคิดเลยว่า จะมีภาพที่สวยและประหลาดแบบนี้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ก็ได้
Artist : Pu Penkea
ซึ่งการร่างภาพแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องฝึกพื้นฐานใดๆมาตั้งแต่แรกเริ่มเพียงแค่ลากเส้นเป็นก็ทำได้ เราสามารถฝึกจากการปริ้นท์ การดราฟท์ การก็อปปี้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการขึ้นโครงร่างก่อนทำการวาด หรือเรียกง่ายๆว่าการทาบเหมือนที่เราเคยทำกันมาตั้งแต่ตอนสมัยเป็นเด็กๆ
ครั้งหนึ่งตอนผมวาดภาพใหม่ๆ ผมเองก็ยังแอบก็อปปี้ต้นฉบับ บางทีก็ถ่ายเอกสารมา พยายามที่จะลากเส้นตีสเกลบ้าง ทำหลายๆวิธีเพื่อให้ภาพที่เราวาดนั้นออกมาเหมือนต้นฉบับมากที่สุด ผมเคยเห็นศิลปินหลายๆท่านเองก็ยังใช้ โปรเจกเตอร์ ฉายลงไปในเฟรมที่ใหญ่แล้วร่างภาพนั้นตามเส้นลงบนเฟรม
ซึ่งก่อนที่เขาจะมีภาพมาฉายลงเฟรมนั้นพวกต้องออกแบบและ วาดลงในกระดาษแผ่นเล็กเพื่อให้ได้สัดส่วนก่อน จึงจะฉายทาบภาพนั้นลงบนพื้นที่วาด ซึ่งจะทำให้ลักษณะ สักส่วนของภาพไม่ผิดเพี้ยนจากต้นแบบที่เขากำหนดไว้ตั้งแต่ต้น
แต่การใช้โปรเจกเตอร์วาดรูปนั้น เราก็ได้เพียงลายเส้นรอบนอก แต่ในเรื่องของแสงเงา น้ำหนัก ที่มีระดับต่างกันมากมาย ยังต้องอาศัยทักษะการเรียนรู้เข้าเพิ่ม
เพราะหากจะลงมือสร้างสรรค์ผลงานสักชิ้น เราคงต้องเริ่มจากสิ่งที่เรารักก่อน แล้ววิธีต่างๆจะตามมา
ก็เหมือนกับวงกลมเราจะเริ่มจากตรงไหนก็ได้ สุดท้ายก็มาสิ้นสุดบรรจบที่กระบวนการเดียวกัน คือ เราเริ่มที่เราจะวาดจากการทาบก่อน แล้วก็มาลงสีตามแบบของเรา พอเราทาบบ่อยๆจนเกิดความมั่นใจแล้ว เราก็จะเกิดทักษะ และมีความอยากที่จะร่างภาพเองให้เหมือนต้นแบบ เราก็จะค่อยๆปรับการเรียนรู้เพิ่มเติม หาวิธีฝึกฝนมากขึ้น หรือบางคนอาจจะเริ่มจากการฝึกการวาดรูปพื้นฐาน โดยฝึกจากการวาดเส้น กำหนดน้ำหนักจนเข้าสู่กระบวนการวาดตามจินตนาการในตอนสุดท้าย
แต่ไม่ต้องกลัวครับ เริ่มจากตรงไหนก็ได้ หากเรารักจริงแล้วเราก็จะตามหาจนเจอ
บางท่านอาจจะคิดว่าไม่มีเวลามากพอที่จะมาทำงานศิลปะแบบนี้ ผมจะชี้ให้เห็นถึงสิ่งมหัศจรรย์ในทุกครั้งที่เราสร้างงานศิลป์ ที่มอบให้กับเรามาอย่างไม่รู้ตัว นั่นคือสิ่งที่ลึกล้ำของความสงบครับ
เราจะมีเวลาที่เราได้ใช้สมาธิ และโฟกัสจุดกับการวาดภาพ ซึ่งนั่นจะทำความคิดของเราเกิดความแน่วแน่ขึ้น เหมือนกับการฝึกพลังจิตให้ได้เพ่งเป้าหมายเฉพาะจุดที่แน่นอนไปในตัว เพราะการนำความรู้สึกภายในนั้นกลั่นลงสู่ผืนเฟรมผ้าใบ จะสามารถปลดปล่อยอารมณ์ของเราให้แยกออกจากจากสังคมที่ตึงเครียดหรือสารพัดสิ่งที่ทำให้ความคิดเราตีบตันได้
ว่ากันว่า... เมื่อเรากำลังกังวลกับเรื่องใด และวนเวียนหาทางออกไม่เจอ ให้ดึงจิตตัวเองให้ออกมาจากเรื่องนั้นก่อน หยุดคิดถึง ปล่อยวางให้ว่างเปล่า ด้วยการโฟกัสไปที่การสร้างงานศิลป์ แล้วหลังจากนั้นลองย้อนกลับไปมองที่ปัญหาเดิมอีกครั้ง บางทีเราอาจจะคิดค้นทางออกใหม่ที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้
ขอให้สนุกกับการวาดภาพนะครับ ส่วนท่านใดที่ชื่นชอบบทความนี้ก็สามารถแชร์บอกต่อเพื่อนๆได้เลยครับ เผื่อวิธีการสร้างงานศิลป์ด้วยตัวเองแบบง่ายๆนี้จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยปล่อยปล่อยความเครียด และส่งจิตของเราให้เป็นอิสระเพื่อพร้อมสู้กับทุกสถานการณ์ด้วยความสดใหม่ แถมยังได้ภาพวาดด้วยฝีมือของเราเองประดับบ้าน เผลอๆมีคนชอบก็อาจขายได้จนสามารถสร้างเป็นรายได้เสริมอีกทางก็ได้ครับ เพราะคำว่างานศิลปะไม่ได้จำกัดคุณค่าของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานครับ
และหากท่านใดสนใจบทความนี้หรือมีข้อสงสัยใดๆสอบถามมาทาง Inbox ได้ครับ ครั้งหน้าจะนำวิธีสร้างเงินจากภาพวาดมาแบ่งปันกันครับ